สินค้าในตระกร้าของคุณ

สินค้า จำนวน ราคา + Vat (7%)
+ ขนส่ง (500)
ราคาสินค้า
0
vat (7%)
0
ค่าขนส่ง
0

รวมทั้งหมด:
0

avatar

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยคนจมน้ำ ข้อควรรู้ที่เราอาจหลงลืม

24 กันยายน 2018

          การจมน้ำเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถคาดการณ์การได้ และเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของคนรอบข้างและตัวเราเอง การเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยชีวิตคนจมน้ำจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ควรศึกษาไว้อย่างยิ่งวันนี้เรามีวิธีป้องกันการสูญเสียจากการจมน้ำกันดีกว่าค่ะ

วิธีช่วยคนจมน้ำ

สิ่งสำคัญในการช่วยคนจมน้ำ อย่างแรกควรมีสติ อย่าผลีผลามหรือร้อนรน จากนั้นจึงค่อยใช้วิธีช่วยคนจมน้ำอย่างถูกต้อง ซึ่งมีหลักการง่าย ๆ อยู่ 4 วิธี ดังนี้
1. ยื่น    
          ยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วง หรือไม้ตะขอ ใช้ในกรณีที่ระยะห่างระหว่างคนช่วยกับผู้ประสบเหตุไม่ไกลกันนัก
2. โยน    
          อุปกรณ์อย่างห่วงยาง ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ ผู้ช่วยเหลือสามารถโยนให้ผู้ที่ตกน้ำยึดเกาะได้ โดยวิธีนี้จะมีความปลอดภัยต่อผู้ช่วยเหลือด้วย เพราะผู้ช่วยเหลือสามารถยืนอยู่บนฝั่งหรือน้ำตื้นได้ ลดความเสี่ยงตกน้ำไปด้วย
3. พาย 
          การใช้เรือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ โดยพาหนะที่ใช้นั้นควรมีขนาดใหญ่พอสมควร ลอยน้ำได้ ไม่ชำรุด เช่น เรือพาย กระดานโต้คลื่น เรือใบ เจ็ตสกี เรือแคนู เรือกรรเชียง เรือใบ เป็นต้น ซึ่งควรจะนำอุปกรณ์ประเภทยื่นหรือใช้โยนตามข้อข้างบนติดตัวไปด้วย เพราะเมื่อเข้าใกล้คนตกน้ำแล้ว เราจะได้ส่งอุปกรณ์เหล่านี้ไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงจะตกน้ำไปด้วยอีกคน

4. ลากพา
    
          ในกรณีที่ผู้ช่วยจำเป็นต้องลุยน้ำออกไปช่วย เราจึงจะใช้วิธีลากพาเอาผู้ประสบเหตุกลับมาขึ้นฝั่ง ซึ่งการลุยน้ำไปช่วยควรคำนึงถึงระดับน้ำ ความรุนแรงของน้ำ สถานที่ ปัจจัยแวดล้อม เช่น ต้องไม่ใช่แม่น้ำที่มีความลึกมาก กระแสน้ำแรง หรือคลื่นทะเลที่รุนแรงเกินไป รวมไปถึงผู้ช่วยก็ควรต้องนำอุปกรณ์ช่วยเหลือติดตัวไปด้วย เช่น เชือก ห่วงยาง โฟม หรือใส่เสื้อชูชีพ เพื่อจะโยนให้คนตกน้ำยึดเกาะ จากนั้นเราจึงลากเขาเข้าฝั่ง

         ทั้งนี้ควรจะทิ้งระยะห่างระหว่างตัวเองกับผู้ประสบเหตุประมาณ 2-3 เมตร เพราะคนที่ตกน้ำอาจตื่นตระหนก จนเกาะตัวผู้ช่วยไว้แน่นหนึบ ซึ่งอาจพากันจมน้ำไปทั้งคู่ เว้นเสียแต่ผู้ประสบเหตุที่มีสติ ไม่ตื่นตระหนก สามารถว่ายน้ำได้บ้างแต่เกิดเหตุขัดข้อง กรณีนี้สามารถเข้าถึงตัวคนตกน้ำได้ และลากพาเขาขึ้นมาที่ฝั่งได้ด้วยการดึงคอเสื้อ เกี่ยวคอ หรือดึงรักแร้ข้างเดียว เป็นต้น

ท่าว่ายน้ำสำหรับช่วยคนตกน้ำ


    
          ท่าว่ายน้ำที่ถูกต้องสำหรับการช่วยคนตกน้ำ มีอยู่ด้วยกัน 4 ท่า แยกเป็นท่าว่ายไป 2 ท่า และท่าว่ายกลับ 2 ท่า ดังนี้

          1.  ท่าว่ายไป ได้แก่ ท่าฟรีสไตล์และท่ากบ เพราะ 2 ท่านี้จะยกศีรษะขึ้นจากน้ำ ทำให้มองเห็นคนตกน้ำ และประเมินสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือได้
 
         2.  ท่าว่ายกลับ ได้แก่ ท่ากึ่งกบหงาย (Elementary back stroke)  และท่าว่ายตะแคง (Side stroke) 

    ทั้งนี้ก่อนว่ายน้ำไปช่วยผู้ประสบเหตุก็อย่าลืมนำอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ห่วงยาง เชือก หรือยางในรถยนต์ติดตัวไปด้วยนะคะ จะได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ลากพาคนตกน้ำขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัยด้วยกันทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในเคสที่เจอคนจมน้ำแบบหมดสติ เราสามารถเข้าประชิดตัวเพื่อนำเขากลับขึ้นฝั่งได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

 1. ใช้วิธีดึงเข้าหาฝั่งโดยการกอดไขว้หน้าอก
          โดยเข้าประชิดทางด้านหลังคนจมน้ำ แล้วใช้มือข้างหนึ่งพาดบ่าด้านหลังในแนวไขว้ทะแยงหน้าอก จับข้างลำตัวด้านตรงข้ามของผู้จมน้ำ แล้วใช้มืออีกข้างว่ายท่ากึ่งกบหงายหรือท่าว่ายตะแคงเข้าหาฝั่ง ที่สำคัญพยายามพยุงตัวคนจมน้ำให้ใบหน้า ปาก และจมูกของเขาอยู่เหนือผิวน้ำด้วยนะคะ


 2. ดึงเข้าหาฝั่งด้วยวิธีจับคาง
          วิธีนี้ผู้ช่วยเหลือเข้าทางด้านหลังของผู้จมน้ำ ใช้มือทั้งสองข้างจับขากรรไกรทั้งสองข้างของผู้จมน้ำ จากนั้นใช้เท้าตีน้ำเพื่อพยุงตัวเข้าหาฝั่ง อย่าลืมจัดท่าทางให้ใบหน้าของผู้ประสบเหตุลอยเหนือผิวน้ำด้วย


 3. ดึงเข้าหาฝั่งด้วยวิธีจับผม
          ให้เข้าประชิดด้านหลังผู้จมน้ำ โดยใช้มือข้างหนึ่งจับผมผู้จมน้ำไว้ให้แน่น จากนั้นว่ายน้ำมือเดียวเข้าหาฝั่ง จัดท่าทางให้ปากและจมูกของคนจมน้ำลอยเหนือผิวน้ำ

วิธีช่วยเด็กจมน้ำ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          เด็กจมน้ำเป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งเราช่วยเด็กจมน้ำได้ดังวิธีเดียวกับการช่วยคนจมน้ำในข้างต้น ทว่าสิ่งหนึ่งที่ควรต้องระวังคือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ไม่ถูกหลัก เช่น อุ้มเด็กพาดบ่าแล้วเขย่ากระทุ้งบริเวณหน้าท้อง หวังให้น้ำที่เด็กสำลักเข้าไปออกมาจากร่างกาย หรือการนำเด็กมานอนคว่ำบนกระทะใบบัวแล้วรีดน้ำออก ซึ่งวิธีเหล่านี้ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากน้ำที่ออกมานั้นเป็นน้ำในกระเพาะ ไม่ใช่น้ำที่เด็กสำลักลงสู่ปอด และเด็กอาจเกิดอาการช้ำจากแรงกระแทกได้ ดังนั้นวิธีช่วยเด็กจมน้ำที่ดีที่สุด เมื่อนำตัวเด็กขึ้นมาอยู่บนฝั่งได้แล้ว ในกรณีที่เด็กรู้สึกตัว ให้รีบเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด 

             ส่วนกรณีที่เด็กหมดสติ เช็กว่ายังมีลมหายใจอยู่ไหม หัวใจเต้นหรือเปล่า ถ้าไม่ ให้โทรเรียกหน่วยรถพยาบาลหรือหน่วยกู้ภัยโดยด่วน จากนั้นให้เปิดทางเดินหายใจ โดยให้เด็กนอนราบ กดหน้าผากลง และเชยคางขึ้นเบา ๆ จากนั้นมองที่หน้าอกหรือท้องว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่ มีเสียงลมหายใจดังหรือเปล่า หรือใช้หลังมืออังบริเวณจมูกและปากของเด็ก เพื่อเช็กลมหายใจ แต่ถ้าเด็กยังไม่หายใจ แนะนำให้ผายปอดด้วยวิธีที่ถูกต้องดังนี้ 

การผายปอดที่ถูกต้อง

            1. จับศีรษะให้หงายขึ้นให้มากที่สุด ฝ่ามือกดหน้าผากของผู้ประสบเหตุไว้ แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบจมูก จากนั้นใช้ปากครอบลงบนปากของผู้ป่วยให้มิด แล้วเป่าลมเข้าไปให้สุดลมหายใจของเรา
           2. ตาดูที่หน้าอกว่าขยายหรือไม่ 
           3. ถ้าเห็นอกไม่ขยาย ให้ปล่อยมือที่บีบจมูกไว้ จากนั้นเป่าลมเข้าไปใหม่ ทำซ้ำประมาณ 20 ครั้งต่อ 1 นาที หรือจนกว่าผู้ประสบเหตุจะมีลมหายใจ หรือมีแพทย์หรือพยาบาลมาช่วย

        หมายเหตุ: ถ้ามีคนช่วย 2 คน วิธีช่วยคือเป่าปาก 1 คน นวดหัวใจ 1 คน 


ซึ่งการนวดหัวใจสามารถทำได้ดังนี้

 

1. จัดให้ผู้ประสบเหตุนอนราบบนพื้น

2.  วัดตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการนวดหัวใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางข้างที่ถนัด วาดจากขอบชายโครงล่างของผู้ป่วยขึ้นไป จนถึงปลายกระดูกหน้าอก วัดเหนือปลายกระดูกหน้าอกขึ้นมา 2 นิ้วมือ แล้วใช้สันมือข้างที่ไม่ถนัดวางบนตำแหน่งดังกล่าว จากนั้นใช้สันมือข้างที่ถนัดวางทับลงไป และเกี่ยวนิ้วมือให้นิ้วมือที่วางทับแนบชิดในร่องนิ้วมือของมือข้างล่าง (interlocked fingers) ยกปลายนิ้วขึ้นจากหน้าอก

3.    ผู้ช่วยเหลือยืดไหล่และแขนเหยียดตรง จากนั้นปล่อยน้ำหนักตัวผ่านจากไหล่ไปสู่ลำแขนทั้งสอง และลงไปสู่กระดูกหน้าอกในแนวตั้งฉากกับลำตัวของผู้เจ็บป่วยทั้งในผู้ใหญ่และเด็กโต กดลงไปลึกประมาณ 1.5-2 นิ้ว หรือประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาหน้าอก โดยกดลงไปในแนวดิ่ง และอย่ากระแทก ทั้งนี้ให้ทำสลับกับการเป่าปาก โดยเป่าปาก 2 ครั้ง กดหน้าอก 30 ครั้ง

4.   ผ่อนมือที่กดขึ้นให้เต็มที่เพื่อให้ทรวงอกมีการขยายตัว และหัวใจได้รับเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจน ขณะที่ผ่อนมือไม่จำเป็นต้องยกมือขึ้นสูง มือยังคงสัมผัสอยู่ที่กระดูกหน้าอก อย่ายกมือออกจากหน้าอก จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย และมีเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้มีการไหลเวียนเลือดในร่างกาย

5.  การกดนวดหัวใจควรนวดเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ในอัตราเร็ว 100 ครั้ง/นาที ถ้าน้อยกว่านี้จะไม่ได้ผล           

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยสามารถหายใจได้เองแล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง โดยให้ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก จากนั้นเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ผู้ประสบเหตุ หรือห่มผ้าเพิ่มความอบอุ่นให้เขา ที่สำคัญอย่าให้ผู้ที่จมน้ำดื่มน้ำหรือกินอาหารทางปาก จนกว่าจะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ และได้รับความปลอดภัย 100% แล้ว

 

ขอขอบคุณบทความที่เป็นประโยชน์จาก 


สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางเขน
สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางเขน และ kapook.com